นิยายเที่ยวสิงคโปร์ : Chapter 12_Day2: เก่าไม่มี...ใหม่สร้าง (ซิงกะโปโล : Singapolo)


ผมจำได้ขึ้นใจจากแคมเปญโฆษณาของประเทศมาเลเซีย ที่ใช้ Slogan ว่า “Truly Asia” ที่แปลได้ว่า “เอเชี๊ย...เอเชียนะเธอว์” ส่วนสิงคโปร์เคยใช้ สโลแกนอยู่ พักนึงที่จำได้คือ “Unique ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวผมว่าสองสโลแกนนี้มี เจ้าของ ผิดคนถ้าสลับกันเวิร์คกว่านี้มาก
            หลักฐานคาตาที่ใครปฏิเสธไม่ได้ก็คือ “อาคารพิพิธภัณฑ์อารยธรรมเอเชีย” หรือ “Asian Civilization Museum” หรือ(อีกที) “ACM” แห่งใหม่ใหญ่กว่าเดิม เอ๊ะ... ยังจำกันได้ไหมครับพิพิธภัณฑ์เปอรานากันนั่นแหละคือที่แรก ก่อนย้ายมาเปิดที่นี่
            อาคารสีหวานสไตล์นีโอคลาสสิคนี้ดูเหมือนจะใหญ่โตกว้างขวาง และสวยงามไม่เป็นรองใครทีเดียว อาคารนี้มีชื่อว่าเอมเพรสเพลซ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1854 เพื่อใช้เป็นศาล แต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนบทบาทเป็นพิพิธภัณฑ์ระดับโลกและยังถือ เป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งบนเกาะแห่งนี้อีกด้วย  ดังนั้นสถานที่นี้ผมจึงไม่อยากให้ ทุกคนพลาดเพราะแค่การเดินมาโฉบเดินดูความสวยงามภายนอกอาคารก็คุ้มค่าแล้ว (ยิ่งตอนกลางคืนที่อาคารถูกประดับด้วยไฟ ก็สวยมากไปอีกแบบ) แต่ถ้าใครมีเวลาแวะ ชมนิทรรศการข้างในก็จะคุ้มค่ามากๆ

            ถึงผมจะไม่มีเวลาเท่าไหร่...​(เพราะวันนี้คิวรวนพังพินาศไปหมดสิ้น) แต่ที่นี่คือ เป้าหมายหลักให้กลับมาอีกครั้ง และในกระเป๋าก็มีบัตรเบ่ง “3Day Museum Pass” ผม ก็ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะพลาดเข้าไปทักทายภายใน…เข้าไปติดต่อเค้าท์เตอร์ น้อง พนักงานที่ดูเหมือนเด็กที่มาทำพาร์ทไทม์เมื่อเห็นบัตรเบ่งก็ทำสัญลักษณ์ในช่องของ ACM และให้สติ๊กเกอร์กลมๆ ผมมา 1 อัน โดยขอให้ติดไว้ที่เสื้ออย่างชัดเจน แค่นี้สิทธิ์ ในการเดินป้วนเปี้ยนที่นี่ก็ถือว่าเป็นอันชอบธรรม
            ถ้ามีกล้องสักตัวมาจับภาพ จะเห็นผมยืนอ้าปากค้างมองหมุนไปมารอบๆ  (แล้วกล้องก็หมุนไปตามผมด้วย) เพื่อสำรวจความสวยงามภายในของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อารมณ์ราวพจมานเมื่อจะลึงกับบ้านทรายทอง...อาคารหลังนี้แม้ภายนอกจะดูโอ่อ่าหนาหนัก แต่ข้างในอบอุ่นเย็นสบายมากครับ...​เดินจากโถงใหญ่ที่ต้อนรับ ก็บังคับให้ต้อง ขึ้นบันไดไปชั้น 2 บันไดไม้มันขลับสีทึบ ตัดกับราวบันใดสีขาว ที่เรียงตัวกับเป็นระเบียบ เสริมความหรูหราด้วยหัวราวบันไดกลมกลมที่ทาสีไขมุกเงาวาบนั้นทำให้รู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในวังของเจ้าหญิงดีสนี่ย์เพื่อเข้าไปร่วมงานบอลลูมอะไรอย่างนั้นแหละ (เวอร์ไปมะ...โอเวอร์ไปมะ...คุณน่าจะชินแล้วนะ)

            พ้นบันใดโถงใหญ่ตรงหน้าก็ต้อนรับเราด้วยนิทรรศการ “เจดีย์” (เรียกย่อๆ นะ ครับเพราะชื่อจริงๆ คือ “The Stupa as a Buddhist Symbol : Exploping the cosmo) ส่วนนี้จัดแสดงความเหมือนของวัฒนธรรมพุทธเอเชีย ที่มีจุดร่วมเหมือนกันคือการสร้าง สถูปเจดีย์ แต่แตกต่างความเชื่อ ยุคสมัย วัฒนธรรม ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ทำให้สถูป เจดีย์ในแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันออกไป  ที่สะดุดตาและดูเหมือนเป็นพระเอกใน ส่วนนี้เห็นจะเป็นงานป๊อปอาร์ทของศิลปินไทยแสนเกร๋ ดูเหมือนเขา ทำเอาถุงกระสอบทรงสามเหลี่ยมเคลือบกาว (หรือวัสดุประมาณไปนั้น) ไปพันพระพุทธ รูปหลายขนาดทำให้ได้โครงองค์พระแข็งๆ และถอดโครงนั้นออกมานำโครงนั้นมาแขวน อย่างเป็นระเบียบจนกลายเป็นทรงเจดีย์ ลอยอยู่กลางอากาศดูแล้วก็ล้ำลึกหลากหลาย อารมณ์ดี และต้องยอมรับว่าต้องเป็นคนพุทธที่ลึกซึ้งเท่านั้นถึง จะถอดรหัสและสร้างาน แบบนี้ออกมาได้   ผมไม่แน่ใจว่านิทรรศกาลเจดีย์นี้จัดแสดงแบบชั่วคราวหรือถาวรแต่ ผมเห็นงานชิ้นนี้ในสื่อต่างๆมานานแล้ว และโครงด้ายพระพุทธรูปที่แขวนอยู่บางครั้งก็ เป็น สีแดงแสนเกร๋เข้าไปอีก

            แม้จะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องเอเชียทั้งหมด แต่ห้องแรกที่พาเราเรียนรู้ทัวร์ เป็นเรื่องของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสิงคโปร์ครับ ( Gallery 1 : Singapore River) ก็ขาย ของตัวเองบ้างอยู่เล็กน้อย เพราะห้องนี้เล่าถึงประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์แบบย่นย่อทั้ง ข้อมูล วัตถุโบราณแบบ 1 ยุคสมัย 1 บอร์ด (ย่อจริงๆ... ถ้าเป็นบ้านเราก็อารมณ์เล่า สมัยสุโขทัยแค่บบอร์ด 1 อัน แล้วข้ามไปเล่าสมัยอยุธยาเลยอีกบอร์ดนึง แม้ไม่ละเอียด แต่ก็ทำให้ประติดประต่อเรื่องราวได้) เรื่องเล่าไปตั้งแต่สมัยยังควบรวมอยู่ในสมัยที่ สิงคโปร์มีชื่อว่า“เทมาเสก” สมัยรวมอยู่ในอณาจักรมาเลย์  เรื่อยมาจนถึงสมัยอังกฤษ ปกครองและกลายเป็นเมืองท่า แล้วก็ใกล้ตัวมากขึ้นด้วยส่วนจัดแสดงถัดไปที่เล่าเน้น สถานที่แห่งนี้คือ “โบ๊ทคีย์” ผ่านโมเดลเรือจำลองที่ผ่านครึ่งเรือให้เห็นกันเต็มๆ ว่าใต้ท้อง เรือน่ะเป็นที่อยู่ของกรรมการด้วย (อารมณ์เดียวกับพิพิธภัณฑ์แสตมป์เลยครับ) และก็ มีเอกสารการค้า ตรายาง เงินสมัยนั้นที่แบ็งค์สิงคโปร์มีรูปราชินีอังกฤษปรากฏหราอยู่ ด้วย  และความรู้ใหม่ที่ได้จากส่วนต่อไปคือ… ในยุคที่อังกฤษกำลังปั้น ให้สิงคโปร์เป็น เมืองท่าค้าขายที่สำคัญของภูมิภาค ท่านเซอร์ราฟเฟิลส์ก็ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลง ทุนทำกิจการ หนึ่งในชนชาติที่ท่านเซอร์ตั้งใจจะเชิญมาก็คือชาวจีน ชาวฮ่องกง เพราะ คงเล็งเห็นว่าชาวจีนเมื่อไปตั้งรกรากที่ไหนก็มักทำการค้าจนรุ่งเรืองร่ำรวย (เมื่อชาวจีน เข้ามาก็ทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนของสิงคโปร์ เช่น เกิดชาวปารา นากันเกิดไชน่าทาวน์ ฯลฯ) และการเข้าเมืองมาสิงคโปร์ต้องถูกกฏหมายด้วย ดังนั้นสิ่ง ที่จัดแสดงคือ “พลาสปอร์ตรุ่นเดอะ” ขนาดเป็นเอกสารเอสี่ ติดรูป 2 นิ้ว อารมณ์คล้ายๆ หนังสือรับรองการจบมหาวิทยาลัย และแน่นอนบุคคลในภาพที่ผมกำลังจ้องอยู่ (และ เขาจ้องมาทางผม) ท่านๆ เหล่านั้นไม่ได้มีชีวิตมาถึงปัจจุบันแล้ว




            เรื่องราวเล่ามาเรื่อยๆ จนถึงช่วงเวลาที่ใกล้กับปัจจุบันที่สุด “The Clean River Project” ที่ได้ช่วยชุบชีวิตแม่น้ำสิงคโปร์ให้กลับมามีชีวิตเป็นหน้าเป็นตาให้กับประเทศ อีกครั้งหนึ่ง
            เท่าที่ดูพิพิธภัณฑ์หลายๆ แห่งของสิงคโปร์ ผมว่าเขาชอบแทรกประวัติศาสตร์ ของเขานะครับ ไม่มากก็น้อย และเล่าประวัติศาตร์ในมุมที่เหมือนๆ กันเป็นหนังม้วน เดียวพอดูหลายๆ ที่ประกอบกันซ้ำๆ ก็เริ่มอินกับประวัติศาสตร์และเข้าใจประเทศ นี้ไปโดยปริยาย...และผมว่าเป็นวิธีคิดที่ดีนะครับขนาดนักท่องเที่ยวอย่างผมจะเผลออินไปแล้ว คนในประเทศน่าจะอินมากกว่าผมอีกไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า...เล่าๆ บ่อยๆ เดี๋ยว มันก็มีจริงขึ้นมาเอง
            ทางเดินบังคับผมเดินไปอีกส่วนของอาคาร กำแพงทางเดินบอกจุดยืนของ พิพิธภัณฑ์ แห่งนี้ Discovering ASIA through ourselves and others”
            ก่อนที่จะเยือน Gally ต่อไป ก็พักเบรกโฆษณาด้วยนิทรรศการชั่วคราว (ที่จัดยาวแบบข้ามปี) ห้องต่อมาทาสีเทาทั้งห้องดูขึงขังแบบเท่ๆ พระพุทธรูปไม้องค์ใหญ่ ตั้งอยู่กลาง ห้องมีเสาสองต้นใหญ่ขนาบข้าง ด้านหลังปรากฏป้ายของนิทรรศการนี้ว่า “LACQUER ACROSS ASIA” แปลแบบมั่วๆ ว่า “เครื่องเคลือบขัดเงาทั่วเอเชีย” ... ห้องนี้จัดแสดงศิลปะ งานไม้เคลือบแลคเกอร์หรือเคลือบเงายางไม้ จากจีนและประเทศ หลักๆ ทั่วเอเชีย ที่นอกจากจะได้เห็นศิลปะอันงดงามของแต่ละประเทศแล้วยังสะท้อน ความเชื่อ ค่านิยมวัฒนธรรม และวิถีพุทธของแต่ละประเทศด้วย  โดยงานก็เริ่มให้ความ รู้ตั้งแต่ “แลคเกอร์ คืออะไร?” และไล่เรียงจัดแสดงเครื่องเคลือบจากจีน ชิ้นที่เด่นคง เป็นฉากไม้เกาะสลักสีแดงเป็นภาพวิวที่ละเอียดมาก  ไล่เรียงมาส่วนจัดแสดงของเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ทั้งเครื่องไม้ลงลักประดับมุก ที่เด่นๆ ในโซนนี้ก็คือ หงส์ไม้สีทอง ประดับกระจกตัวอ้วนพลีจากพม่า และงานเครื่องไม้สีแดงลงเขียนลายลงลักสีดำเซ็ท ใหญ่ ที่มากจากไทยลานนา



            เท่าที่สังเกตในเอกสารของพิพิธภัณฑ์ ผมแน่ใจว่าห้องนี้ไม่น่าจะใช่ห้องสีเทา อย่างที่เห็นครับ เป็นไปได้ว่าเพื่อให้เข้ากับนิทรรศการนี้ ก็เลยต้องทาสีเทาทับทั้งห้อง ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนสีห้องไปเรื่อยๆ ตามแต่อารมณ์ของนิทรรศการที่จัดแสดง ก็เป็น เรื่องปกติของแกลอรี่และพิพิธภัณฑ์ที่พึงกระทำ
            และเราก็เข้าสู่ห้องต่อไปคือมหากาพย์แห่งเนื้อหาเอเชียครับ ทั้งห้องถูกเคลือบ ด้วยความมืด และผนังสีดำ ไม่มีแสงจากภายนอกอาคารส่องเข้ามา ท่ามกลางความมืด วัตถุโบราณ ต่างๆ ก็สว่างลอยเด่นด้วยสปอตไลท์ ที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี
            ผมว่าอีกจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์ทั่วสิงคโปร์คือ “ไลท์ติ้ง” นี่แหละครับดูออก แบบมาดีแล้วและเอาจริงเอาจังมาก คือไม่ใช่เอาไฟสาดๆ ส่องๆ เพื่อเน้น วัตถุแล้วจบ แต่พิถีพิถันในการออกแบบแสงมากๆ ทั้งเพื่อสร้างบรรยากาศให้กับนิทรรศการ ทั้งขับ เน้นในส่วนที่สำคัญ หรือวัตถุชิ้นเล็กจิ๋วๆ ยังอุตส่าห์เลือกสปอตไลท์อันเท่าก้านไม้ขีด ส่องไปที่วัตถุ เลือกบังคับแสงให้ส่องไปแค่พื้นที่ต้องการเท่านั้น แล้วยังไม่จบครับเพราะ เขานอกจากจะออกแบบแสงที่ส่องแล้วยังคิดไปถึงการออกแบบ “เงา” ที่ตามมาอีกด้วย เรียกว่าบรรจุทั้งเรื่อง แสง สี และเงา ... อุแม่เจ้า...

Gallery 3,4,4A : Southeast Asia บ้านเรานี่เองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ค่อนข้างละเอียดและจัดแสดงแบบจัดเต็มนะครับ เพราะจั่วหัวว่าภูมิภาคนี้มีประวัติมา กว่า 2,500 ปี และกล่าวอ้างถึงชาว “ม้ง” (เดาว่านะครับ เพราะเขาเขียนว่า Hmong”) ทางตอนเหนือของไทย และขาวชวาโบราณ ยืนยันความโบราณผ่านเงิน เครื่องดินเผา อายุ 600 ปีก่อนศริตศักราช และเล่าเรื่องต่อมาถึงการกลายเป็นแห่งการค้าสำคัญของ โลกซึ่งนำมาซึ่งการไหลบ่าของวัฒนธรรมและศาสนาและได้ฟีเจอร์ริ่งกันจนทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลาดังปัจจุบัน ซึ่งผมยอมรับว่าข้อมูลในห้องนี้เยอะมาๆ จริงๆ ครับ แรกๆ ก็ตั้งใจอ่านหรอก หลังๆ เริ่มดูตาตาอย่างเดียวละ ขึนอ่านทุกป้าย ผมต้องใช้เวลาทั้งวันแน่นอน


Gallery 5 : West Asia/ Islamic ก็อย่างที่ทราบว่าพอเอเชียถัดไปทางตะวันตกปุ๊ป ก็จะเป็นประเทศที่นับถืออิสลาม ซึ่งส่วนนี้ก็จะเน้นวัฒนธรรมของอิสลามเป็นหลักครับ ที่เห็นเยอะๆ ในส่วนจัดแสดงนี้ไม่ ค่อยมีวัตถุที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอะไรมากครับ  เพราะนิทรรศกาลเล่าว่าศิลปินชาว อิสลาม จะสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านภาพเขียนอักษร ที่มาจากคัมภัร์อัลกุรอานมากว่า (คล้ายๆ ภาพเขียนอักษรของจีน) ดังนั้นเราจะเห็นภาพเขียนอักษรนี้จัดแสดงเรียงราว เยอะไปหมด และด้วยความเชื่อที่ว่า “การสร้างชีวิตเป็นหน้าที่ของศาสดาเท่านั้น“ ผลงานของศิลปินอิสลามจึงไม่เขียนที่เป็นคนใดๆ ในงานศาสนศิลป์ (ไม่เหมือนชาวคริสต์ที่วาดคน วาดเทพ วาดพระเจ้าเป็นภาพเสมือนจริงได้ทั่วไป) และตอนท้ายของนิทรรศกาล ยังกล่างถึง ความเชื่อมโยงระหว่างโลกมิสลิม ของเอเชียตะวันตกที่เริ่มค้าขายกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในศตวรรษที่ 9 และ ความรู้ ด้านการแพทย์ เคมี และคณิตศาสตร์ ยังเป็นรากฐาน ที่สำคัญของวิทยาศาสตร์ สมัย ใหม่ของโลกฝั่งตะวันตกอีกด้วย

            Gallery 6 : China จีนล้วนๆ สำหรับพี่ใหญ่แดนมังกรที่เป็นเป้าหลอมวัฒน ธรรม ให้กับเอเชีย หรือเกือบทั้งโลกก็ว่าได้  ส่วนจัดแสดงนี้ค่อนข้างมีเนื้อหาละเอียด และครอบคลุมหลายด้านครับเริ่มตั้งแต่เรื่องราวของจักรพรรดิ์จีนที่มีฐานะเป็นโอรสแห่งสวรรค์ (จัดเต็มทั้งภาพวาดจักพรรดิ์และเครื่องทรง), วัฒนธรรมการเคารพบรรพบุรุษ, แนวคิดของขงจื้อ,และที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษหนีไม่พ้นงานเครื่องเคลือบจีนที่โด่งดังไปโลกด้วยความที่ช่างจีนสามารถออกแบบดัดแปลงเครื่องเคลือบให้ออกมาถูกจริตคนในแต่ละประเทศคู่ค้าได้, และปิดท้ายนิทรรศการด้วย “เครื่องเคลือบสีขาว Dehua อันเป็น ที่รู้จักกันดี” (จริงๆ ผมก็ไม่รู้จักหรอก) โดยจัดแสดงแม่พิมพ์ของงานที่ใช้จริงใน จังหวัดฝูเจี้ยน ทางตอนใต้สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ซิงกันเลย




Gallery 7-8 : South Asia กินพื้นที่ถึง 2 ส่วนครับสำหรับเรื่องราวของเอเชียใต้ ซึ่งโซนนี้ผมว่าขลังเพราะเล่าวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุที่มีมากว่าพันปีและเป็นแล่งกำเนิด 2 ศาสนา หลักทั้งฮินดูและพุทธ ดังนั้นของที่จัดแสดงก็ไม่วัตถุที่เก่าแก่  รูปสลัก ภาพวาด โมเดลจำ ลองสถูปเจดีย์ วัดแขก.. สารภาพว่าเดินดูไปขนลุกไป ก่อนจะตบท้ายแบบเข้า สู่ประวัติศาสตร์ของคนอินเดียในสิงคโปร์ช่วงยุคอาณานิคม ที่สืบลูกหลานอยู่ใน สิงคโปร์ จนถึงปัจจุบัน

จากการดูทุกแกลอรี่แล้ว ผมถึงบอกไงครับว่า อยากให้สิงคโปร์ใช้สโลแกน Truly Asia” มากที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นส่วนไหนของเอเชีย ที่ล้วนเชื่อมโยงกับสิงคโปร์ ได้เสียทั้งหมด และด้วยตัวตนของสิงคโปร์ที่เป็นดินแดนที่หลากหลายมาตั้งแต่เกิด ด้วยภูมิประเทศที่เหมาะท่าเรือแหล่งพัก จึงเป็นแหล่งรวมของคนหลากหลาย ยิ่งเมื่อ สมัยอังกฤษทำสัญญากับสุลต่านเดิมที่ปกครองและค่อยโอนสิงคโปร์เข้าไปอยู่ในปกครองของอังกฤษ จนพัฒนากลายเป็นเมืองท่าการค้าที่รุ่งเรือง ชาวจีน ชาวอินเดีย ชาวมาลายู ชาวอาหรับ ชวา โบยานีส อาร์เมเนีย ฯลฯ ต่างเข้ามาตั้งรกรากจนดินแดน แห่งนี้มีผู้คนหลากหลายเผ่าพันธ์ คละอาชีพ เพื่อไม่ให้เมืองเติบโตอย่างมีทิศทางและ หลีกเลี่ยงการก่อจลาจล ในปี ค.ศ. 1922 ท่านเซอร์ราฟเฟิลส์จึงให้ ฟิลิป แจ็คสัน สำรวจเกาะและออกแบบผังเมือง โดยแบ่งแยกเขตต่างๆ ออกไปตามเชื้อชาติ ยุโรป จีน มาลายู แยกเขตการค้า ที่อยู่อาศัย ไม่ใช้ปะปนกัน และผังเมือง “แจ็คสัน” นี้ก็ใช้เรื่อย มาจนถึงปัจจุบัน และครั้นเมื่อสิงคโปร์ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย ก่อนจะเพิ่งแยก ตัวเองออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1965 นี่เอง จึงอาจจะยังไม่มีวัฒน ธรรมที่ หยั่งรากลึก และผนวกกับประเทศต้องการสร้างความ เป็นปึกแผ่น... แล้วอะไรล่ะ คือ “ความเป็นสิงคโปร์-ชาวสิงคโปร์”...​ทางออกง่ายแสนง่าย ในเมื่อเป็นสังคมผสมขนาดนี้ ก็ไม่ต้องไปจับควบควมอะไรให้ยุ่งยาก...

ความเป็นสิงคโปร์ก็คือ “ส่วนผสมของเอเชีย นี่เอง” อารมณ์ประมาณว่า ซีดเอฟเอ็ม เป็นกลางเปิดเพลงทุกค่าย “หลากหลายแต่หัวใจเดียว” ล่ะมั้ง
แล้วก็ชัดเจนทั่วแผ่นดินสิงโตครับ  ป้ายต่างๆ ก็ประกอบไปด้วย  3 ภาษา ทั้งจีน อินเดีย ฑมิณ, แสดงถึงความหลากหลายในชาติ ผมว่าก็พิพิธภัณฑ์ปารานากัน นี่แหละหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญ, หรือกระทั่ง ACM แห่งนี้ ที่ขอรับหน้าที่ “ศูนย์รวมของ เอเชีย” ผ่านนิทรรศการวัฒนธรรมเอเชียทั่วทวีป ทั้งนิทรรศการถาวรและชั่วคราวที่ หมุนเวียนกันไม่ซ้ำ
อดชื่นชมสิงคโปร์ไม่ได้จริงๆ แม้ตัวตนเก่าของจะไม่แข็งแรงสักเท่าไหร่ แต่ก็ขยันสร้างตัวตนใหม่ที่แข็งแรงชัดเจนขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง  จนวันนี้เขาได้บรรลุ ความเป็น  “ส่วนผสมของเอเชียที่ลงตัว” ไปเรียบร้อยแล้ว...

ขณะกำลังเคลิ้มๆ ชื่นชมความหลากหลายที่ลงตัวของสิงคโปร์ ทางเดินก็บังคับให้ผมเข้าสู่แกลอรี่ถัดไป แอบตกใจว่า “อ้าว ยังไม่หมดอีกหรอ?”  ยังครับ… นิทรรศการ(ที่ผมคาดว่าชั่วคราว) ที่ชื่อ Devotion and Desire Cross-Cultural Art in Asia” รอผมอยู่  จริงด้วยครับมีป้ายโปรโมทใหญ่โตหน้าตัวตึก แล้วก็มีโบร์ชัวร์วางอยู่ เรียง รายตรงโถงทางเข้า (ซึ่งผมหยิบติดมือมาด้วย) ซึ่งพอก้าวเข้าในส่วนจัดแสดงก็ต้อง อึ้งครับ เพราะนิทรรศการมีขนาดใหญ่มากและน่าดูมากด้วย โดยเฉพาะ​ภาพเขียน “มาดามเวลลิงตัน คู” สาวปารานากันสวยสง่าร่างบางในชุดแบบยุโรป มันช่างน่าเสีย เวลาสัก 10 นาทีในการจ้องมองดีแท้...แต่นาฬิกาบอกว่าเวลา 5 โมงเย็นแล้วครับ  หมดเวลาสำหรับสถานที่แห่งนี้เสียแล้ว เลยจำใจต้องลามาดามคู และนิทรรศการ ที่ได้เพียงแค่เห็นแต่ทางเข้านี้ไปโดยปริยาย

อีกเป้าหมายหนึ่งที่ผมอยากจะมาเห็นกับตาคือ “โรงละครวิกเรีย” ที่สร้างมาตั้ง แต่ปี ค.ศ.1862 ซึ่งเปิดให้เข้าชมภายแบบฟรีๆ และยังมีรูปปั้นท่านเซอร์ราฟเฟิลส์ทอง สัมฤทธิ์รูปปั้นต้นแบบตั้งอยู่ด้วย ตามแผนที่ในแอฟบอกว่าอยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์เลยครับ ผมก็เลยเดินลัดเลาะรอบตัวตึกไปเรื่อยๆ (ซึ่งใหญ่มากจริง) เดินจนเหนื่อยวนรอบก็ยังไม่ เจออะไรที่คล้ายกับโรงละครเลย เลยตัดสินใจดูแผนที่ช้าๆ คราวนี้อาศัย Google Map เลย พิกัดบอกว่า ผมยืนอยู่หน้าโรงละครแล้ว แต่ไหนล่ะ ข้างหลังผมก็มีแต่อาคารที่ล้อม รั้ว และเห็นช่างกำลังรื้อๆ แงะๆ อยู่.... เพิ่งดูภายตัวอาคารในหนังสือท่องเที่ยว กับโครงหน้าต่างที่ช่างกำลังสกัดๆ อยู่ก็ชัวร์ป๊าบ
ใช่แล้ว... “กำลังปิดซ่อมแซม”  ...แช่แฟ้บเอ๋ย เก่ามี ก็ ขยันซ่อมกันจริง.. ไปซ่อมช่วงอีกได้ไหมเนี่ย คนอุตส่าห์จะมาเยี่ยมแท้ๆ


ติดตามตอนต่อไป Chapter 13 Day 02 "ช้าง...ต่างแดน" ได้ที่นี่ คลิกเลย


อ่านตอนเก่า





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรื่องย่อ “Frozen” (Disney's) โฟรเซ่น - ผจญภัยแดนคำสาปราชินีหิมะ” : จากมุมมองของผม หลังชม (review)

สไปร์ท ฮอร์โมน : ซ่าๆ ใสๆ (กินสไปร์ท ต้องใส่ถุง) : (Hormones วัยว้าวุ่น เดอะซีรีย์)

เต้ย ฮอร์โมน : ตำนานแห่งดอกกุหลาบที่ถูกสาป (Hormones วัยว้าวุ่น เดอะซีรีย์)