นิยายเที่ยวสิงคโปร์ : Chapter 10 _Day2: เกาะเล็ก...สเป็คเมกะ (ซิงกะโปโล : Singapolo)

            บ่ายนี้ ผมจะไปไหน ก็มีแผนไว้แล้ว
            สิงคโปร์ จะโตไปทางไหน เขาก็มีแผนไว้แล้ว
            ซึ่งแผนการพัฒนาทั้งหมด ได้ถูกจัดแสดงไว้ที่ City Gallery...เป้าหมายต่อไป
            (ส่วนพี่โท พี่เอส และนุ๊ก ก็คงลั้นลาอยู่ที่ Universal Studio ตามแผน)

            เดินจากพิพิธภัณฑ์ปารานากัน กลับมาที่ MRT สถานี Bras Brasah นั่งสายสีส้มไปลงสถานี Dhoby Ghaut แล้วเปลี่ยนเป็นสายสีม่วง ลงสถานี China Town ทางออก A ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีเท่านั้นเอง พยายามเดินฝ่าคนและร้านค้า ที่จอแจมาทาง Chinatown Complex ผ่านวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว ข้ามถนนมาที่ Maxwell Food Court เดินทุละมาทางด้านหลังก็จะเจอ รูปปั้นหินเป็นผู้หญิงหาบของ 3 ตัวอยู่แข็งอยู่หน้าอาคาร The URA  Center ก็ใช่แล้วล่ะครับ  City Gallery ตั้งอยู่ ภายใน

            ระหว่างที่เดินผ่าน Maxwell Food Court ดราม่าก่อตัวครับ  คราวก่อนหลังจากไหว้พระที่วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว แม่ก็เหนื่อยและบ่นหิว แต่แม่กินยากครับ อาหารจีน เลี่ยนๆ อาหารแขกเครื่องเทศเยอะนี่แม่เบือหน้าเลย คราวที่แม่ไปเที่ยวมาเลเซียถึงขั้น ต้องอุดหนุนร้านอาหารไทยทุกมื้อไป ครั้งนี้เมื่อมาสิงคโปร์แม่เลยวางแผนเด็ดตำน้ำพริก
มาและพกปลาทอดติดตัวไปด้วยทุกที่ แต่ผมกับพี่มองว่าแผนแม่ไม่น่าจะเวิร์ค เพราะ ครั้นจะกินแต่ปลากับน้ำพริกก็เกรงจะได้สารอาหารไม่ครบ เราเลยพยายามมองหาร้าน
อาหารไทยซึ่งเราเชื่อว่ามี และแล้วก็เจอร้าน “ศรีสะเกษ” ที่เจ้าของและแม่ครัวเป็นคน
ไทยแท้เลยจัดต้มยำให้ไม่ซดให้แซ่บตามต้องการ… คิดถึงแล้วก็คิดถึงแม่ครับ ตอนนี้ผม
ก็หิวยังไม่ได้กินข้าวด้วย แต่ตอนนี้ขอกลืนก้อน ดราม่าลงท้อง ทำเพื่อฝันตามแผนก่อน  ถ้าเลทไปกว่านี้ เดี๋ยวโปรแกรมตอนบ่ายจะรวนไปหมด

            Sinagapore City Gallery ตั้งชั้น 2 ของอาคาร ก่อนเข้าไปคุณป้าแก่ๆ ก็ยังคับให้ผมลงทะเบียนชาวต่างชาติก่อน แล้วนางก็ให้แผ่นพับติดมือมา แต่ที่สำคัญคือ มี CD 1 แผ่นเขียนไว้ว่า “Master plan” 2008.... อะไรกัน แจกแผนพัฒนาชาติกัน
แบบนี้เลยหรา!!!!
            ผลักประตูเข้ามาด้านใน รูม่านตาก็ต้องปรับให้เข้ากับความมืด ห้องแรกนี้เป็น ห้องวงกลมผนังเป็นจอที่ฉายภาพวิวแบบพาโนราม่าตรงกลางห้องมีแท่นมี  4 อัน มีจอให้เราจิ้มๆ เล่น  โดยทำหน้าที่ของห้องแรกนี้คือตัวเกริ่นและสรุป Concept ของที่นี่นั่นเอง...เริ่มจะเดาถูกแล้วว่าสไตล์ของพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการของสิงคโปร์ จะต้องเล่าภาพรวม Concept และสรุปความแบบย่อๆ ไว้ยั่วผู้ชมก่อน เพื่อให้เกิดความใคร่(รู้) เป็นแรงขับให้เข้าไปหาคำตอบภายใน แล้วก็เดาไม่ผิดครับ พ้นจากห้องวงกลมก็มีบันไดพาเราขึ้นไปชั้น 2   ผนังของบันได มีป้ายใหญ่เบ่อเริ่ม
             SMALL ISLAND”
            และพอมองตรงไปข้างหน้าไกลๆ มีป้ายหนึ่งรับสายอยู่
            “BIG PLANS”

            ก่อนที่จะเดินไปอีกฝากของนิทรรศการผนังด้านหนึ่งของทางเดินชั้นลอยนี้ก็มีบอร์ดไล่เรียงประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์แบบป๊อปอาร์ทเก๋ๆ ดูง่ายๆ ให้เราดูด้วย เริ่มด้วยการสรุปประวัติศาสตร์ชาติด้วยคำง่ายๆ “From fishing village to trading port” – จากหมู่บ้านชาวประมง สู่เมืองท่าการค้า” แล้วเริ่มเล่าสภาพบ้านเรือนด้วยภาพเริ่ม ตั้งแต่ก่อนในยุค  50s ในช่วงที่อังกฤษเข้ามา ปกครองซึ่งเจริญรุ่งเรือง  เรื่อยไปถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุค 50s  จนมาถึง ยุคสร้างชาติในยุค60s พัฒนาจนสู่ยุคสังคมเมืองที่มีการพัฒนาสาธารณูประ โยชน์ยุคใหม่ ในยุค 70s  และเริ่มส่งเสริมส่งแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ให้ดีขึ้นในยุค 80s ต่อด้วยยุค 90s  ที่ให้ความสำคัญกับอาชีพและที่อยู่อาศัยของคนให้มีความหลากหลาย และจบท้ายเรื่องราวในยุค 2000s  ด้วยหมัดเด็ด...




















A Great city to live, Work and Play in

            น่าสนใจนะครับว่าในช่วงไม่กี่สิบปีนี้เอง ทำไมสิงคโปร์ถึงได้เจริญรวดเร็วปรึ๊ด ปร๊าดแบบนี้มันต้องมีอะไรไม่ธรรมดาซ่อนอยู่ในห้องต่อไปหลังป้าย “BIG PLANS”
แน่นอน

            แต่เดี๋ยวก่อนครับ....จู่ๆ ไฟโถงด้านล่างก็มือลงครับ พอชะโงกลงไปดูด้านล่าง ที่เป็นโมเดล 1:400 ของเกาะสิงคโปร์ก็เห็นคนยืนมุงโมเดลนั้นอยู่ สักพักโชว์ก็เริ่มครับ  โปรเจคเตอร์ฉายภาพเคลื่อนไหวลงไปบนโมเดลพร้อมเสียงบรรยาย  ดูไปสักพักก็เก็ทเลยครับ ว่ามาสเตอร์แพลนของสิงคโปร์เป็นอย่างไร เพราะเขาจะเล่า ทีละโซนเลยว่าจะพัฒนาแต่ละโซนของประเทศไปทิศทางไหน โซนไหนเป็นย่านอนุรักษ์โซนไหนจะสร้างเป็นย่านธุรกิจ โซนไหนจะเป็นที่พักผ่อน จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวตรงไหนบ้าง เป็น 3 นาทีที่เก๋ไก๋ และเข้าใจง่ายมากครับแต่จะเข้าใจมากกว่านี้ถ้าเสียงบรรยายไม่ใช้ภาษาจีน....
             "เงิบเบาๆ"
            

หลังป้าย “BIG PLANS” เป็นทางเดินที่เต็มไปด้วยจอทีวี ป้ายต่างๆ แบ่งออกเป็นส่วนๆ ไป ส่วนแรก  Planning” ในจอทีวีจะมีคนทุกเพศ ทุกวัยออกมา สลับกันพูดครับว่าสิงค์โปร์ที่น่าอยู่ของเขานั้นควรเป็นอย่างไร ข้างๆ หันก็มีบอร์ดที่เขียน ความรู้สึกนึกคิดของคนครับ เป็นความรู้สึกที่บ้านๆ และดูไร้สาระนะครับ แต่จี๊ดโดนใจ คนจริงๆ ชะมัด เช่น “โปรดรักษาร้านโกปิเตียม (ร้านการแฟข้างทางชื่อดัง) ของเราไว้ ด้วยนะ” “อยากให้มีที่เล่นกีฬาเยอะๆ ฉันจะได้ฟิตหุ่นได้ตลอด” “แถวบ้านฉันเสน่ห์จะ ตาย...เก็บบรรยากาศนั้นไว้นะ”  นี่คือตัวอย่างนะครับ... ตลอดทางเดินเหมือนความต้อง การของชาวเมืองจะรุมเร้าเรามากเหลือเกินครับ แรกก็ตั้งใจอ่านอยู่หรอก แต่พอมากๆ เข้าก็รู้สึกอึดอัดเหมือนกันครับ (นี่ขนาดคนนอกนะเนี่ย)
พอกำลังจะเดินหนีป้ายกระจกใหญ่ยักษ์ก็คั่นตรงทางเดิน ตัวอักษรใหญ่ปะทะ
หน้า “ SMALL ISLAND” - “BIG NEEDS” …
“เออก็จริง แต่ต้องการมากกันไปเป่าวะ!!!!


ห้องต่อไปเป็นเกมส์ชื่อ “Balancing the needs of a city State” ให้เล่นครับ กลางห้องตรงกลางห้องมีจอขนาดใหญ่บรรยายวิธีการเล่น และรอบๆ มีจอคอมทั้ง 8 ที่ตั้งอยู่ เกมส์คล้ายๆ ซิมซิตี้เลยครับ แต่ละคนจะเป็นที่ดินเปล่าๆ 1 ผืน มีไอเทมสถานที่ต่างๆ มาให้ ทั้ง พิพิธภัณฑ์, สนามกีฬา, ที่อยู่อาศัย, พื้นที่ของชุมชน, ศูนย์การค้า, สวนสาธารณะ, และท่าเรือ (ดูเป็นสิงคโปร์มากๆ) โดยเราต้องวางผัง เมืองในอุดมอคติที่คนจะอยู่แล้วมีชีวิตที่ดี มีความสุข และควบคุมสัดส่วน สิ่งก่อสร้างทั้งหมดตามที่เกมส์กำหนด หากเราวางได้ตรงสัดส่วนที่เกมส์กำหนดเราก็จะได้คะแนนเยอะเป็นเมืองที่น่าอยู่นั่นเอง

            หลังจากมึนกับความต้องการอันมากล้นของคน สิงคโปร์และหลอกให้เราเล่นเกมส์เพื่อให้เขาใจคอนเส็ปของการพัฒนาเมืองแล้ว ต่อไปนี้ล่ะครับ คือ “BIG PLANS” ของเขาล่ะ
            แผนแรกของเขาน่าสนใจครับ เริ่มต้นด้วยปัญหาที่โคตรยาก “เรามีเนื้อที่จำกัด จะตายไป (710ตร.กม.) แต่เราจำเป็นต้องรวมความต้องการทั้งหมดไว้”  ซึ่งคำตอบที่เขาคิดก็ง่ายมากเลยครับ คือ “ก็เพิ่มพื้นที่สิ - Create more Space”  
            และนี่คือ “BIG IDEAS” แผนในการเพิ่มพื้นที่ของเขา ที่ทำเราอึ้งไปเหมือนกัน
            ถมทะเลซะเลย : เขาเริ่มถมทะเลตั้งแต่ช่วงปี 1960 ครับ และมีแผนว่าในอนาคตจะถมไปเรื่อยๆ  เพราะเขาคิดแผนระยะยาวไว้แล้วครับช่วงปีไหนจะถมตรงไหนสร้างตรงไหน ผลงานเด่นชิ้นแรกๆ ที่ต้องร้องว้างคือการถมที่ดินเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาด 900 สนามฟุตบอล ยื่นไปในมารีน่าเบย์​ซึ่งเจ้าแหลมนั่นปัจจุบันก็คือที่ตั้งของโรง ละครเอสพลานาสนั่นแหละครับ

             ลงใต้ดิน : ที่บนดินมีจำกัด ก็ลงใต้ดินซะเลย สิงคโปร์ซ่อนหมดลงไปเป็นชั้นๆ เลยครับ ไม่ว่าจะเป็นสายไฟ สายเคเบิ้ล  ลงไปอีกชั้นก็เป็น MRT ที่ชอนไชุกมุมเมือง สร้างให้สถานี MRT มีร้านค้าและพื้นที่ว่าง  อาคารหรือห้างมักมีชั้นใต้ดินที่เชื่อมต่อกับ MRT ก็มาจากแนวคิดนี้ นอกจากนี้ด้านล่างลึกลงไปที่เป็นชั้นหินเขา ก็ขุดเป็นคลัง สำหรับเก็บไฮโดรคาบอนด์ หรือก๊าซและน้ำมันได้อีกด้วย  ในอนาคตจะมีแผนจะสร้างสร้าง “เมืองวิทยาศาสตร์ใต้ดิน - Science City” ที่มีทั้งห้องวิจัย และแหล่งเก็บข้อมูลอีก
ด้วย... ผมชอบวิธีลงใต้ดินนะครับ เพราะอยากได้ที่ดินเพิ่มอีกกี่เท่าตัว ก็เพิ่มจำนวนชั้นลงใต้ดินไป... ธรรมดาซะที่ไหนล่ะ
            รวมทุกอย่างใต้หลังคาเดียวกัน : อันนี้ก็น่าสนใจมากๆ ครับ คือรวบรวมสิ่งหน่วยงาน หรือ อำนวยความสะดวก หลายๆ อย่างไว้ในตึกเดียวกัน การทำแบบนี้ทำให้สะดวกขึ้นเวลา จะทำอะไร (มาที่เดียวจบ) ตัวอย่างที่สะท้อนแนวคิดนี้คือ “Marina Barrage” เขื่อนขนาดใหญ่ที่นอกจากจะมีปั๊มไว้สูบน้ำเฉยๆ แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นสนามกีฬาทางน้ำ มีพิพิธภัณฑ์ด้านน้ำ และลานหญ้ากว้างบนหลังคาของอาคารอีก ถ้าสนใจที่นี่ พรุ่งนี้ผมจะพาคุณไปชมนะครับ อดใจรอสักครู่เดียวววว (ปิดเบรกเข้าโฆษณา)
            เพิ่มพื้นที่สีเขียว :  นอกจากจะเน้นปลูกต้นไม่เพิ่มในทุกที่ที่ปลูกได้แล้ว (ยอดตึกต่างๆ ก็ไม่เว้น) พื้นที่ป่า หรือเนินเขาที่มีอยู่เดิมก็พัฒนาให้เป็นแหล่งพักผ่อนตามธรรมชาติ ที่สำคัญทางตอนใต้ที่มีเป็นที่ป่าและมียอดเขาเรียงตัวกันเป็นทิวก็ผุดโปรเจคสร้างสะพานเชื่อมทุกยอดเขาให้เราเดิน วิ่ง ขี่จักรยานได้ยาวๆ เป็นมาราธอน  ใครสนใจแนวคิดนี้ พรุ่งนี้ผมก็จะพาไปวิ่งเล่นที่ “Henderson Waves” นะครับ
             นอกจากนี้ยังมีไอเดียบิ๊กๆ อีกมากที่น่าสนใจและเขาให้มันเกิดขึ้นแล้ว เช่น การเพิ่มพื้นที่อ่างเก็บน้ำฝนกลางเมืองเพื่อสะสมน้ำจืดไม่ให้ออกทะเลและใช้แหล่งน้ำนั้นเป็นแหล่งกีฬาทางน้ำ ตกปลา กิจกรรมกลางแจ้งของคนเมือง,การส่งเสริมให้สร้างตึกสูง

            ใช่ว่าสิงคโปร์เขาจะสร้างใหม่เสียอย่างเดียว อีกคำที่เขาค่อนข้างคลั่งและทำ คู่คือว่า “อนุรักษ์”  ซึ่งน่าสนใจว่าเขาไม่ได้มีแผนแค่ระดับจิตสำนึก ที่นึกจะทำหรือไม่ทำ ก็ว่ากัน แต่แผนของเขาทำทันที จับต้องได้ครับ แม้บางเรื่องดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ผมว่า นี่แหละคือความใส่ใจ
            Our Trees : การพัฒนาสิงคโปร์ เราต้องการเก็บต้นไม้สูงเก่าแก่เอาไว้ (เก็บ ไว้อย่างจริงจัง) ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ตามถนน หรือต้นไม่เดิมตามธรรมชาติ เขาให้เหตุ ผลว่านอกจากจะสร้างความร่มรื่นแล้ว ยังให้บรรยากาศและสร้างเอกลักษณ์ให้ สถานที่ต่างๆ ได้อีกด้วย  เหตุผลประกอบช่างมีทั้งศาสตร์และศิลป์ ​โอ้วววว์
            Old World Charm : บ้านเรือนที่เกิดขึ้นในยุค 1920 – 1950 รอบๆ ใจกลาง เมืองล้วนแล้วแต่มีประวัติศาสตร์ จึงน่าจะเก็บไว้เป็นมรดกทางสังคม และวัฒนธรรม ต่อไป (บ้านเรือนที่ว่าคือยุคคลาสสิคของสิงคโปร์เลยครับ)
            นอกจากนี้เขายังจัดทำ “แผนที่อนุรักษ์ - Conservation Map  กำหนดกันชัดๆ ไปเลยว่าทั่วประเทศมีสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือสถานที่ทางศาสนาที่ไหนบ้างที่ต้องทำนุบำรุงอนุรักษ์ไว้บ้าง


            พอเรารู้คอนเส็ปของการพัฒนาสิงคโปร์แล้ว ห้องต่อไปก็เป็นการสรุปแผนทั้งหมดเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่เล่ามาตั้งเยอะ มันไม่ใช่แค่ความคิด แต่ทำกันจริงจัง ตาม ผนังมีภาพโครงการและสถานที่ที่ได้รับการพัฒนาพร้อมคำอธิบายแบบย่อ เล่าเรื่อง อยู่เต็มไปหมด  ตรงกลางห้องมีแท่นขนาดใหญ่เป็นแผนที่แบบจอสัมผัส ที่เรา สามารถเลือกดูได้การพัฒนาของเขาแบบแยกตามประเด็นได้เลย เช่นอยากรู้เรื่อง พื้นที่สีเขียว แผนที่จะไฮไลท์บริเวณสวนและพื้นที่สีเขียวขึ้นมาให้เลย และสามารถ คลิกดูรายละเอียดของสถานที่นั้นๆ ได้อีกด้วย

            สิ้นสุดของนิทรรศการก็พอเรามาเดินวนมาเจอกับป้าย BIG PLANS  แห่งเดิมอีกครั้ง “เออ เอ็งเก่ง...” อดที่จะชมประเทศสิงคโปร์ไม่ได้จริงๆ และแล้วไฟที่โถงกลางก็มืดลงอีกครั้ง มองลงไปด้านล่างที่โมเดลแผนที่แบบรู้งาน และโชว์ก็เริ่มอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นภาษาอังกฤษครับ ค่อยรู้เรื่องหน่อย
            พอโชว์จบผมก็ลงมาชั้นล่างเพื่อส่องโมเดลแบบประชิด  โมเดลนี้ทำให้เราเห็นการพัฒนาที่เรามาทั้งหมดชัดเจนขึ้นผ่านสิ่งปลูกสร้างครับ  ซึ่งใครที่บ้าโมเดลคงต้องกรีดร้องนะครับ เพราะเขาทำออกมาได้เหมือนจริงมาก ตึกทุกตึก สิ่งปลูกสร้างสำคัญ
ล้วนแต่มีรายละเอียดที่เหมือนกับ เอาของจริงมาย่อส่วนเลย และที่สำคัญยกมาทั้งประเทศครับ สุดยอดมากๆ และในแผนที่มีโมเดลตึกบางอันที่ยังเป็นแค่ก้อนโครงร่างที่ไม่มีรายละเอียด เลยเต๊าะเข้าไปถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่า
“ตึกเหล่านั้นคือโครงการในอนาคต แล้วคุณเห็นนั่นไหม พื้นที่ว่างสีขาวใน แผนที่  ถ้าเมื่อไหร่มีการสร้างตึกใหม่หรือมีโครงการเกิดขึ้น โมเดลก็จะถูกเติมลง ไปเช่น กัน”
 ได้ยินคำตอบแล้วอึ้ง...



หลังจากอิ่มเอมในแผนพัฒนาชาติของสิงคโปร์แล้ว ของดีก็ยังมีโชว์อยู่ครับ เมื่อลงมาชั้นล่างเตรียมตัวจะออกจากอาคาร ทางเดินก็บังคับให้เดินมาสู่ โถงใหญ่อีก ห้องหนึ่ง มีโมเดลแผนที่สีน้ำตาลใหญ่มากรอเราอยู่ครับ  นึกสงสัยว่าทำไมมันถึงมีหลาย
โมเดลจัง พอเข้าไปดูใกล้ๆ ก็ร้องอ๋อว่าทำคนละหน้าที่แผนที่นี้พยายามเล่าเรื่องการคมนาคมและไลฟ์สไตล์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละโซนครับ โมเดลนี้ไม่ค่อยเน้นความสมจริงของตัวสิ่งปลูกสร้างเท่าไหร่ ที่โดดเด่นคงเป็นตุ๊กตาคนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ของโมเดลครับ ขำดี แต่ดูแล้วเข้าใจเลย เช่น ตรงย่านลิตเติ้ลอินเดียเป็นตุ๊กตารูปผู้หญิงยืนชูผ้าส่าหรี  ตรงออร์ชาร์ดเป็นรูปสาวทันสมัยชูถุงชอปปิ้งทั้ง 2 มือ และที่จี้คือตรงการ์เด้นบายเดอะเบย์ (โซน Bay East ที่กำลังสร้างอยู่) มีตุ๊กตาผู้ชายไถลอเลอร์สเก็ตอยู่



            รู้สึกคุ้มค่านะครับ ที่เลือกชม Singapore City Gallery และชื่นชมที่มีสถานที่แบบนี้ให้คนในประเทศได้รู้จักประเทศตัวเองมากขึ้นและเข้าใจตรงกันว่าเรากำลังจะเดินไปทางไหน เมื่อเข้าใจตรงกัน ทุกคนก็ทำให้มันเกิดในแบบที่ วางแผนไว้… และนอกจากสถานที่ที่ดีแล้ว ตัวแผนเขาก็ดีมากๆ ครับสรุปแบบไร้สาระ ในแบบผมว่าเขามีเป้าหมายที่ทำให้คนอยู่แล้วเป็นสุข ประเทศเดินหน้าได้ อะไรเป็น ปัญหาก็แก้ให้หมด  อะไรที่ทำแล้วจะดีก็รีบทำ ไม่แปลกใจเลยครับว่าทำไมถึงเจริ๊ญ เจริญ

            ผมแน่ใจนะครับว่าประเทศเรามี “แผน” กับเขาเหมือนกัน ก็​ “แผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคม” (ที่เราเคยเรียนกันตอนจะมัธยมและกลับมาท่องอีกที ตอนจะสอบ เอนทรานซ์นั่นแหละครับ) แต่แผนที่มีน่ะ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเราได้ “ทำ” ตามแผนหรือ
เปล่า เพราะเท่าที่จำได้คือ แผนแรกเน้น “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี” มาบัดนี้บางพื้นที่ น้ำ ไฟทางก็ยังเข้าไม่ถึงอยู่นั่นเอง

            ขณะเดินออกจากตึก URA แล้วมองไปรอบๆ ต้นไม้ ถนน ย่านชุมชน สถานี MRT MAXWELL ที่กำลังก่อสร้างอยู่ ทุกอย่างตรงหน้าล้วน แล้วแต่ถูกวางแผนไว้หมด ซึ่งก็น่าจับตามองว่าสิงคโปร์จะโตไปทางไหนต่อไป แต่ที่นี่ๆ ผมต้องพักแผนไว้ชั่วคราว ครับ หิวโฮก จะบ่าย 3 แล้วยังไม่ได้กินอะไร ว่าแล้วก็ตัดสินใจไม่ยากเลยครับ สำหรับ มื้อนี้ ตรงเข้าศูนย์อาหาร Maxwell ตรงข้ามตึก เดินไปที่ร้านสุดท้าย เป็นร้านเดียว ที่มีนางกวัก ช้างไม้ และพวงมาลัย  เลือกจากป้ายมา1 เมนู แล้วสั่งแบบทำให้คนในร้าน ตกใจเบาๆ
            “ป้าครับ...ข้าวผัดหนำเลี๊ยบจานนึงครับ”


        


    ข้าวของป้าจานใหญ่มาก ประมาณว่ากิน 2 คนยังเหลือ แต่ผมกลับกินหมดครับ จะให้เหตุผลว่าหิวมากก็ไม่เชิง แต่คงเหตุผลแบบทหารมากกว่า “เวลามีก็กิน กินกันตาย เพราะไม่รู้ว่าต่อไปจะมีให้กินไหม” ผมไม่ได้คิดแบบนี้ตั้งแต่แรกนะครับแต่เริ่มคิดได้จากทริปครั้งก่อนที่มาจากที่บ้านนั่นแหละ เพราะแม่กว่าจะหาร้านที่ถูกปากได้ก็ยากเหลือเกิน เวลาก็มีน้อย อาหารก็แพงกว่าตามท้องถนนบ้านเรา แม่เลยบอกว่า “เจอที่กินได้ก็กินเลย กินให้หมด อย่าเหลือ เสียดาย” ... ผมเลยสนองแม่แบบดราม่า กินไปน้ำตาคลอคิดถึงแม่ไป และซัดจนเรียบ  จนป้าแม่ครัวแซวว่า... “ดี ป้าจะได้ไม่ต้องล้างจาน”
           
            หลังจากเติมพลังกายก็ขอเติมพลังใจตามสไตล์คนไทยที่ไปไหนต้องไหว้พระ เพียงแค่ข้ามจากศูนย์อาหารตรงข้ามก็จะเจอวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว วัดไม้สูง 4 ชั้นสไตล์สถาปัตยกรรมราชศ์ถัง นอกจากจะสวยงามเวอร์ด้วยทุนสร้าง 62ล้านเหรียญสิงคโปร์แล้ว ยังมีความสำคัญตามชื่อวัดเลย เพราะชั้น 4 ของวัดเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุที่เป็นพระทนต์ของพระพุทธเจ้า จึงไม่แปลกว่าวัดนี้จะเป็นศูนย์รวมใจของชาวพุทธบนเกาะสิงคโปร์นี้

            แม้ว่ารอบๆ วัดจะมีการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า ทำให้การไปเยือนทั้ง 2 ครั้งเจอไซท์งานบังอยู่หน้าวัดบ้างรบกวนการถ่ายรูปภาพกว้างหน้าวัดแบบสุดๆ ก็ตาม แต่พอเข้าไปในวัดปุ๊ป ความรู้สึกคล้ายๆ วัดไทยก็มาเลยครับ  แค่ก้าวผ่านธรณี ประตู เข้าไปในวัดก็รู้สึกร่มเย็นสบายเดินตรงเข้าไปอีกในอาคารความเว่อร์วังก็ปะทะกับเราเต็มๆ ครับชั้นแรกนี้เป็นโถงกว้าง 2 ห้อง ห้องแรกที่เจอใหญ่มาก ทองอร่ามไปทั่ว กลางห้อง เด่นด้วยรูปปั้นพระศรีอาริยเมตไตรย ส่วนรอบๆ ห้องมีพระพุทธรูปทองปาง ต่างๆ เป็น ร้อยๆ องค์เรียงรายอยู่เต็มผนัง สมชื่อห้อง 100 Dragons Halls” ( จริงๆ ก็ไม่สมชื่อหรอก ทำเป็นเออออไปงั้น...ว่าแต่เราจะบาปเป่าวะ) โถงนี้จะจัดเป็นที่สวดมนต์ด้วย ซึ่งถ้าไปประสบในช่วงนั้นคงขลังมากทีเดียวล่ะ


            การขึ้นไปชั้นบนทำได้ทั้งบันไดเล็กๆ ที่แอบอยู่มุมวัด หรือกดลิฟท์ที่บุผนังด้วยผ้าปักดิ้นทองสุดหรูหราก็ได้  ชั้น 2 เหมือนจะเป็นห้องอเนกประสงค์นะครับ ส่วนชั้น 3 นี่สิน่าสนใจ เพราะเขาทำเป็นพิพิธภัณฑ์พุทธศาสนา ถ้าจับใจความไม่ผิดที่นี่จะเล่าเรื่องการเผยแพร่พระพุทธศาสนาทั่วเอเชียตามยุคสมัย และพื้นที่ๆ ต่างออกไป จัดแสดงผ่านพระพุทธรูปเป่า หรือเครื่องประกอบพิธีบูชา ดังนั้นเราจะเห็นของเก่าตั้งแต่ยุคแรกที่ยังสลักพระพุทธเจ้าบนแผ่นหินใหญ่ ไล่เรียงตาม เวลามาจนถึงยุคที่สร้างสรรค์พระพุทธรูปปางต่างๆ แบบพิถีพิถันสวยงาม เหมือนในปัจจุบัน  เล่าให้ใกล้ตัวก็มีเรื่องราวพระพุทธศาสนา ในไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ด้วย (แน่นอนมีกล่าวถึงพระแก้วมรกต)   ซึ่งคราวที่มากับแม่ผมก็แปล รายละเอียดของพระแต่ละองค์ให้แม่ฟัง ผนวกกับที่เป็นพระเก่าแก่ ก็เสร็จแม่ครับยกมือขึ้นไหว้อธิษฐานขอพรทุกองค์ไป

            จุดพีคอยู่ที่ชั้น 4 ครับ ซึ่งเข้มงวดเป็นพิเศษ ทุกคนต้องถอดรองเท้าและห้ามถ่ายรูป เพราะเรากำลังจะได้สักการะพระบรมสารีริกธาตุที่เป็นพระทนต์ของพระพุทธเจ้า
           
            โถงชั้น 4 นี้สวยมากๆ กว่าทุกชั้นเลยครับ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหน้านั้นเป็นโถงโล่งๆ ตรงกลางมีพระพุทธรูป หรือให้เราสักการะ รอบๆ โถงเป็นยกพื้นสำหรับพระหรือผู้ต้องการนั่งสมาธิสวดมนต์สามารถจับจ้องพื้นที่ได้แบบไม่มีใครมาเดินชน อีกส่วนหนึ่งที่กินพื้นที่อีกครึ่งชั้น จัดเป็นพื้นที่ต้องห้าม สามารถมองผ่านกำแพงกระจกเข้าไปได้อย่างเดียว
            ด้านหลังกระจกเป็นพื้นที่สีเหลี่ยมที่ขลังเอามากๆ ทองอร่ามสว่างไปทั้งห้อง นอกจากภาพเขียนผนังที่สวยงาม และโคมสีทองนับร้อยพันที่ห้อยลงมาจากเพดาน ตรงกลางห้องที่ยกขึ้นเป็นแท่นเด่นนั่นเองคือพระบรมสารีริกธาตุ ห้องนี้นอกจากทำให้ผมรู้สึกใกล้พระพุทธเจ้ามากๆ แล้ว ยังประณีตซะจนมองดูได้ไม่รู้เบื่อเลย
           
            ก่อนจะลาจาก ผมพนมมือตั้งนะโม สามจบและขอพรในใจ
            “ขอให้ประเทศไทย เจริญก้าวหน้า มีแผนที่ดี มีคนที่ดี ขอให้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติไหน...และขอให้ผมและครอบครัวได้กลับมาที่นี่กันอีกครั้ง...
สาธุ”


ติดตามตอนต่อไป Chapter 11Day 02 ..................  เร็วๆ นี้


อ่านตอนเก่า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เรื่องย่อ “Frozen” (Disney's) โฟรเซ่น - ผจญภัยแดนคำสาปราชินีหิมะ” : จากมุมมองของผม หลังชม (review)

สไปร์ท ฮอร์โมน : ซ่าๆ ใสๆ (กินสไปร์ท ต้องใส่ถุง) : (Hormones วัยว้าวุ่น เดอะซีรีย์)

เต้ย ฮอร์โมน : ตำนานแห่งดอกกุหลาบที่ถูกสาป (Hormones วัยว้าวุ่น เดอะซีรีย์)